ความเป็นมา

สืบเนื่องจากที่ประชุมคณบดีวิทยาศาสตร์เล็งเห็นถึงความสำคัญในการพัฒนาประเทศ โดยการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปใช้อย่างเหมาะสม ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยยังขาดแคลนนักวิทยาศาสตร์ที่มีคุณภาพ และอาจารย์ที่มีความรู้ความสามารถที่จะถ่ายทอดความรู้และกระบวนการคิดทางวิทยาศาสตร์ให้กับนักเรียน และนิสิตนักศึกษา ดังนั้นในปี พ.ศ. 2544 ที่ประชุมคณบดีวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยและสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา จึงร่วมกันจัดตั้งโครงการพัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์ (ทุนเรียนดีวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย ระยะที่ 1 ปี 2544-2551) เพื่อจัดสรรทุนการศึกษาในระดับปริญญาตรีให้กับผู้ที่ศึกษาในหลักสูตรวิทยาศาสตร์ เมื่อนิสิตนักศึกษาส่วนใหญ่ที่จบในโครงการเข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาโทและเอก ที่ประชุมคณบดีวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยและสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาจึงเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อขอดำเนินโครงการต่อในระยะที่ 2 (ปีการศึกษา 2551-2562) ซึ่งได้รับการอนุมัติในวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ.2550 โดยให้ทุนศึกษาในหลักสูตรวิทยาศาสตร์อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ระดับปริญญาตรี-โท-เอก แก่ผู้มีความสามารถทางด้านวิทยาศาสตร์และมุ่งมั่นที่จะปฏิบัติงานในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ จำนวน 4 รุ่น รุ่นละ 200 ทุน รวม 800 ทุน และให้ทุนแก่ผู้ที่ศึกษาในหลักสูตรวิทยาศาสตร์ระดับปริญญาโทและเอกในสาขาที่โครงการกำหนด อีก 4 รุ่น รวม 800 ทุน โดยมีเป้าหมายสร้างกำลังคนระดับปริญญาเอกเพื่อปฏิบัติงานในสถาบันอุดมศึกษาจำนวนรวมทั้งสิ้น 1,600 คน โดยเริ่มให้ทุนตั้งแต่ปีงบประมาณ 2552 เป็นต้นไป

ทั้งนี้สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาได้มอบหมายให้คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นศูนย์ภาคกลาง ในการดำเนินการรับนิสิตนักศึกษา เพื่อเข้าศึกษาในสถาบันต่าง ๆ

สาขาวิชาที่จะให้ศึกษา

สาขาในระดับปริญญาโทและเอกที่จะให้ศึกษาต่อโดยได้รับทุนได้นั้น จะจัดลำดับความสำคัญตามความขาดแคลนของสถาบันอุดมศึกษาในสภาวการณ์ที่เป็นจริง หากผู้สำเร็จปริญญาตรีเลือกเรียนต่อในสาขาที่ยังไม่เป็นที่ต้องการและ/หรือไม่สามารถหาอัตราบรรจุให้ได้ อาจไม่ได้รับทุนในระดับปริญญาโทและเอก หรือต้องเลือกสาขาอื่นที่เป็นที่ต้องการแทน ทั้งนี้ให้ขึ้นกับดุลยพินิจของคณะอนุกรรมการบริหารโครงการฯ

ทุนการศึกษา

ปริญญาตรี

  1. ค่าใช้จ่ายส่วนตัว(ต่อปี) 60,000 บาท
  2. ค่าหนังสืออ่านประกอบ 5,000 บาท

ปริญญาโท

  1. ค่าใช้จ่ายส่วนตัว(ต่อปี) 86,400 บาท
  2. ค่าหนังสืออ่านประกอบ 10,000 บาท
  3. ค่าอุปกรณ์การศึกษา(คอมพิวเตอร์) 18,000 บาท
  4. ค่าสืบค้นวารสาร 10,000 บาท

ปริญญาเอก

  1. ค่าใช้จ่ายส่วนตัว(ต่อปี) 100,560 บาท
  2. ค่าหนังสืออ่านประกอบ 10,000 บาท
  3. ค่าอุปกรณ์การศึกษา(คอมพิวเตอร์) 18,000 บาท
  4. ค่าสืบค้นวารสาร 10,000 บาท

เงื่อนไขและข้อผูกพัน

ผู้ที่ผ่านการคัดเลือกเข้าศึกษาในโครงการพัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์ (ทุนเรียนดีวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย) จะต้องทำสัญญากับสถาบันที่สังกัด และปฏิบัติตามเงื่อนไขหลักต่อไปนี้ เงื่อนไขการศึกษา ระดับปริญญาตรี ในระหว่างการรับทุนระดับปริญญาตรี จะต้องมีผลการศึกษา ดังนี้

ชั้นปีที่ 1 » มีเกรดเฉลี่ยสะสมทั้งปี (GPAX) ต้องไม่ต่ำกว่า 2.75 (ไม่นับรวมผลการเรียนภาคฤดูร้อน) กรณีที่ได้คะแนนเฉลี่ยสะสม (GPAX) อยู่ระหว่าง 2.50-2.74 จะอยู่ในเกณฑ์รอพินิจ ซึ่งหากในปีการศึกษาถัดไปไม่สามารถแก้ไขได้ตามเกณฑ์ที่กำหนด จะหมดสิทธิ์ได้รับทุน แต่ยังคงศึกษาในคณะวิทยาศาสตร์ได้จนจบหลักสูตร

ชั้นปีที่ 2-4 » มีเกรดเฉลี่ยสะสม (GPAX) เมื่อสิ้นปีการศึกษาไม่ต่ำกว่า 3.00. ถ้ามีเกรดเฉลี่ยสะสม (GPAX) อยู่ระหว่าง 2.75 - 2.99 ให้อยู่ในสภาพรอพินิจ นักศึกษาจะอยู่ในเกณฑ์รอพินิจ ได้เพียง 1 ครั้งเท่านั้น หากอยู่ในสภาพรอพินิจเป็นครั้งที่ 2 จะหมดสิทธิ์ได้รับทุนของโครงการฯ ส่วนจะต้องชดใช้ทุนหรือไม่นั้นขึ้นกับดุลยพินิจของคณะอนุกรรมการบริหารโครงการฯ ทุกชั้นปี ไม่ลงทะเบียนเรียนซ้ำในรายวิชาใด ๆ ยกเว้นในรายวิชาที่ถอน (W) และไม่มีผลการศึกษาในรายวิชาบังคับใด ๆ เป็น F

หมายเหตุ ขณะที่อยู่ในสภาพรอพินิจจะถูกระงับทุนชั่วคราว หากภาคการศึกษาถัดไปมีผลการศึกษาเป็นไปตามเกณฑ์จะได้รับทุนในช่วงที่ถูกพักทุนและได้รับทุน ต่อเนื่องตามเดิม

ระดับปริญญาโท-เอก ในระหว่างการรับทุนระดับปริญญาโท โทควบเอก หรือปริญญาเอก จะต้องมีผลการศึกษาตามเกณฑ์ดังนี้

สำหรับปริญญาโทแผน ก แบบ ก.2 (เรียนรายวิชาประจำหลักสูตรไม่น้อยกว่า 12 หน่วยกิต และทำวิทยานิพนธ์ไม่น้อยกว่า 12 หน่วย) หรือปริญญาเอกแบบ 2.1 และ 2.2 จะต้องมีคะแนนเฉลี่ยสะสม (GPAX) เมื่อสิ้นปีการศึกษา ต้องไม่ต่ำกว่า 3.25 (ไม่รวมผลการเรียนภาคฤดูร้อน) กรณีที่ได้คะแนนเฉลี่ยสะสม (GPAX) เมื่อสิ้นปีการศึกษาระหว่าง 3.00 - 3.24 หรือไม่รายงานความก้าวหน้าในการทำวิจัยหรือวิทยานิพนธ์ตามระยะเวลาที่กำหนดของภาคการศึกษานั้น จะอยู่ในเกณฑ์รอพินิจ ซึ่งจะถูกพักทุน ถ้าเกรดเฉลี่ยสะสมในภาคการศึกษาถัดไปได้ไม่ต่ำกว่า 3.25 จะคงสภาพทุนและรับทุนต่อไป แต่ถ้าหากต่ำกว่า 3.25 จะพ้นสภาพทุน แต่ยังคงศึกษาได้จนจบหลักสูตร ทั้งนี้ในระหว่างการเรียนตลอดหลักสูตร จะต้องไม่ลงทะเบียนเรียนซ้ำในรายวิชาใดๆ (ยกเว้นวิชาสัมมนา วิทยานิพนธ์ และ/หรือที่คณะอนุกรรมการบริหารโครงการฯ เห็นชอบ) สำหรับปริญญาเอกแบบ 1.1 และ 1.2 ที่ยังไม่ได้เริ่มปฏิบัติงานวิจัยภายในภาคการศึกษาแรก และ/หรือคณะกรรมการพิจารณาผลงานเห็นว่าการทำวิจัยยังไม่ก้าวหน้าเท่าที่ควรจะอยู่ในสภาพรอพินิจ และหากในภาคการศึกษาถัดไปยังไม่สามารถปรับปรุงให้ดีขึ้น จะหมดสิทธิ์การรับทุน ทั้งนี้จะต้องส่งรายงานความก้าวหน้าของผลงานวิจัยของทุกภาคการศึกษาตามเวลาที่กำหนด

นิสิตนักศึกษาจะอยู่ในเกณฑ์รอพินิจ ได้เพียง 1 ครั้งเท่านั้น การมีผลอยู่ในเกณฑ์รอพินิจครั้งที่ 2 จะหมดสิทธิ์ได้รับทุนของโครงการฯ ส่วนจะต้องชดใช้ทุนหรือไม่นั้นขึ้นกับดุลยพินิจของคณะอนุกรรมการบริหารโครงการฯ

การทำวิทยานิพนธ์ : ผู้รับทุนจะต้องรายงานผลการสอบเค้าโครงร่างวิทยานิพนธ์ และรายงานความก้าวหน้าในการทำวิทยานิพนธ์เป็นประจำทุกภาคการศึกษาภายในเวลาที่กำหนด และแจ้งกำหนดการสอบป้องกันวิทยานิพนธ์ให้โครงการได้รับทราบล่วงหน้าไม่ต่ำกว่า 2 เดือน

เงื่อนไขอื่น

  1. ในระหว่างรับทุนของโครงการฯ ในทุกระดับการศึกษา จะต้องไม่สมัครหรือรับทุนการศึกษาจากโครงการอื่นใด หากต้องการสมัครรับทุนอื่นจะต้องลาออกจากโครงการ และชดใช้เงินทุนเป็นจำนวน 2 เท่าของที่ได้รับไปตามที่ระบุในสัญญา ยกเว้นการสมัครขอทุนวิจัยซึ่งต้องแจ้งให้ทราบเมื่อได้รับทุนวิจัยแล้ว หรือการสมัครรับทุนไปศึกษาระดับปริญญาเอกในต่างประเทศที่ไม่มีข้อผูกพัน กรณีนี้จะต้องให้ยื่นเรื่องเสนอให้คณะอนุกรรมการบริหารโครงการฯ พิจารณาให้ความเห็นชอบในสาขาและสถาบันที่สมัครก่อนไม่น้อยกว่า 1 หรือ 2 เดือน ก่อนปิดรับสมัคร และเมื่อเห็นชอบจึงจะให้พักทุน และไปรับทุนต่างประเทศได้โดยเมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วให้กลับมาปฏิบัติงานในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐเป็นระยะเวลา 1 เท่าของระยะเวลาที่ได้รับทุนจากโครงการทุนเรียนดีฯ ในระดับปริญญาโทและเอก
  2. ต้องเข้าร่วมกิจกรรมเสริมหลักสูตร และกิจกรรมพิเศษที่โครงการฯ คณะฯ หรือมหาวิทยาลัย จัดขึ้นอย่างสม่ำเสมอโดยไม่มีข้อยกเว้นหากไม่มีเหตุอันควร ผู้ที่หลีกเลี่ยงและละเลย จะถูกตัดสิทธิ์ที่พึงได้รับจากโครงการหรือถูกตัดทุนฯ
  3. ผู้ที่ลาออกจากโครงการฯ ก่อนสำเร็จการศึกษา หรือทำผิดสัญญาอันเป็นเหตุให้ออกจากโครงการฯ จะต้องชดใช้เงินคืนต้นสังกัดเป็นเงิน 2 เท่า ของจำนวนเงินที่โครงการฯ จ่ายไป การพ้นสภาพทุนหรือออกจากโครงการฯ โดยมิต้องชดใช้ทุนจะต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะอนุกรรมการบริหารโครงการฯ
  4. ผู้รับทุนจะต้องปฏิบัติตามเกณฑ์ที่โครงการฯ กำหนด หรือที่จะกำหนดต่อไปในภายหลัง หากมิได้มีเกณฑ์ใดกำหนดไว้ให้คณะอนุกรรมการบริหารโครงการฯ เป็นผู้พิจารณาและตัดสิน